Filler ที่ใช้กันในปัจจุบัน เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มแพทย์ความงามทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสารเติมเต็มประเภท Hyaluronic acid ยังคงเป็นกลุ่มฟิลเลอร์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด แม้ว่าฟิลเลอร์ตัวนี้ มีโอกาสเกิดการแพ้น้อยมาก แต่ในบางเคสก็หลีกเลี่ยงปัญหานี้ไม่ได้ ซึ่งในวันนี้หมอจะมาพูดถึงเกี่ยวกับผลข้างเคียง และอาการแพ้จากฟิลเลอร์ประเภท Hyaluronic acid รวมถึงแนวทางการรักษาเบื้องต้น พร้อมแนวทางแก้ไขของปัญหาดังกล่าว สำหรับบทความนี้กันครับ
อาการแพ้ฟิลเลอร์มีลักษณะอย่างไร
อาการแพ้ Hyaluronic acid เกิดขึ้นได้ยากมาก และจากประสบการณ์การฉีดฟิลเลอร์ส่วนตัวยังไม่พบอาการแพ้จาก HA Filler แต่อย่างใด ส่วนมากจะเป็นแค่อาการข้างเคียงจากการฉีด เนื่องจากต้องใช้เข็ม ได้แก่ อาการบวม อาการระบม รอยช้ำ รอยแดง หรืออาการเจ็บบริเวณที่ฉีด เช่นการฉีดฟิลเลอร์คาง ก็อาจจะระบมที่คางเป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นใน 3-7 วัน แล้วแต่สภาพผิวเดิมของผู้รับบริการ โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้น หากได้รับการแนะนำจากทีมแพทย์ที่ถูกต้องและเหมาะสม สำหรับอาการแพ้จากตัว Hyaluronic acidacid จริงๆ สามารถสรุปได้เป็น 2 แบบคือ
1. Acute phase reaction to hyaluronic acid
มักพบในผู้มีประวัติแพ้ Hyaluronic acid อยู่แล้ว หรือ ส่วนประกอบอื่นที่เติมเข้ามาในขบวนการผลิต เช่น ยาชา หรือ สารที่ช่วยให้ฟิลเลอร์เกาะตัวกัน (Cross-linkage) ดังนั้นการเลือกชนิดหรือยี่ห้อของฟิลเลอร์ที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน แพร่หลายและมีรายงานการแพ้ที่น้อยมาก ย่อมลดโอกาสการแพ้ HA Filler ได้นั่นเอง
โดยอาการในแบบแรกนี้ มักมีอาการเกิดขึ้นทันทีขณะฉีด หรือหลังฉีดไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง เช่น อาการบวมแดงเป็นก้อน บริเวณที่ฉีด และบางรายอาจจะมีอาการลมพิษเฉียบพลันเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า และตามตัว รวมทั้งอาการตาบวม ปากบวม ร่วมด้วย อาการแพ้ในรูปแบบนี้พบได้น้อยกว่า 1% ในประชากรโลก
2. Delayed phase Reaction to Hyaluronic acid
อาการแพ้แบบเกิดขึ้นภายหลังนี้ ส่วนมาก แยกออกเป็น 2 กรณีคือ
- อาการแพ้ตัว HA FIller จากขบวนการภูมิคุ้มกันของร่างกายนั่นเอง โดยมักพบในผู้รับบริการที่เคยได้รับการฉีด HA FIller มาก่อนแล้วโดยอาจเป็นยี่ห้อที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และต่อมาร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้านเก็บไว้เป็น “Memory cell” ดังนั้นเมื่อผู้รับบริการได้รับการฉีด Filler อีกครั้ง ก็จะทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันที่จดจำแล้ว ออกมาทำปฏิกิริยากับโมเลกุล Filler ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอาการแพ้ เช่น อาการแดง บวม ก้อนแข็งมากขึ้น
- อีกกรณีที่พบได้คือ หลังจากการฉีดวัคซีน เมื่อมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาจจะทำให้ร่างกายมีการอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยากับตัว Filler ได้ในผู้รับบริการที่มีลักษณะภูมิแพ้แฝงอยู่แล้ว
ฟิลเลอร์อักเสบเกิดจากอะไรได้บ้าง
แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- การติดเชื้อ มักเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อ แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ในขั้นตอนการเตรียมสภาพผิวที่ไม่สะอาดพอ อุปกรณ์ที่นำมาใช้เพิ่มเติม เช่น การเปลี่ยนเข็มไปใช้เข็มแบบอื่นไม่ได้ใช้เข็มที่ผลิตมาใน Seal Kit และ กระบวนการฉีดที่ไม่ sterile เพียงพอ ดังนั้น ขั้นตอนนี้จึงมักต้องอาศัยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ในการดูแลการทำหัตถการฉีดสารเติมเต็มในกลุ่ม HA Filler นั่นเอง การติดเชื้ออีกแบบหนึ่งคือ จากการติดเชื้อจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ฟันผุ การอักเสบในช่องจมูกและโพรงไซนัส การติดเชื้อจากในลำคอ เป็นต้น และกระจายมาในบริเวณที่ทำการฉีด Filler หรือการติดเชื้อจากผิวหนังบริเวณที่มีการฉีดฟิลเลอร์นั่นเอง มักเกิดในกรณีผู้รับบริการมีภูมิต้านทานอ่อนแอ ทำให้เชื้อโรคกระจายสู่บริเวณที่ทำการฉีด Filler ได้อย่างง่ายดาย
- ปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกันต่อตัว HA Filler เอง ทั้งแบบทันทีหรือแบบเกิดขึ้นภายหลัง ตามที่กล่าวในหัวข้อข้างต้น
การรักษาเบื้องต้นหากมีอาการแพ้ฟิลเลอร์
การรักษาเบื้องต้นหากมีอาการแพ้ฟิลเลอร์ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการฉีดฟิลเลอร์ Hyaluronic acid เพื่อการรักษาที่มีความเฉพาะเจาะจงและทันท่วงที เพื่อลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นต่อผิวหนังบริเวณที่ทำการฉีด
อาการแพ้ Hyaluronic acid แบบทันที มักมีอาการรุนแรง แพทย์มักจะต้องให้ยาลดอาการอักเสบทางเส้นเลือดและยารับประทาน ควบคู่กับ การฉีดยาสลาย Hyaluronic acid ทันที พร้อมทั้งสังเกตอาการเป็นระยะ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก
หากแพทย์ตรวจพบว่า เป็นอาการแพ้ Hyaluronic acid ที่เกิดภายหลังอาจจะต้องมีการตรวจ Test เพื่อ confirm และในระหว่างนั้น อาจจะมีการรักษาปฏิกิริยาจากการแพ้ควบคู่กันไป เช่น การฉีดสลาย Hyaluronic acid ร่วมกับยารับประทานเพื่อลดการอักเสบต่อไป
สำหรับในกรณีการติดเชื้อบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ ก็ต้องมีการฉีดสลาย Hyaluronic acid ควบคู่กับการให้ยาฆ่าเชื้อ โดยแพทย์จะต้องพิจารณาเป็นรายเคสไป ตามความเหมาะสม ร่วมกับการรักษาสภาพผิวหนังให้กลับคืนสภาพโดยเร็ว
ไม่อยากเสี่ยงแพ้ฟิลเลอร์ต้องทำอย่างไร
สำหรับผู้รับบริการที่ต้องการเข้ารับการฉีด HA Filler หมอมีข้อแนะนำให้เตรียมตัวดังนี้ครับ
- เลือกฉีดในคลินิกที่ได้มาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินการโดยแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการฉีด HA Filler และ ได้รับการยอมรับจากวงการแพทย์ความงาม มีแพทย์ประจำ ไม่ควรฉีด HA Filler ภายนอกสถานพยาบาล เพื่อหลีกเลี่ยงแพทย์ปลอม และในสถานที่เหล่านั้น มักไม่สามารถควบคุมความสะอาดได้ดี จะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ และขาดอุปกรณ์การรักษาหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้การรักษาไม่สามารถทำได้ทันท่วงที
- เลือกฉีด HA Filler กับแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และ มีประสบการณ์การฉีด HA Filler มาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ผู้รับบริการควรตรวจสอบประวัติแพทย์และทักษะการฉีด HA Filler ก่อนตัดสินใจเลือกเข้ารับบริการที่คลินิกใด เพื่อผลลัพธ์ที่พึงพอใจ และ ปราศจากผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
- เลือกใช้ฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐาน อย. และเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับระดับโลกมาอย่างยาวนาน รวมถึงมีการใช้มาแล้วจากแพทย์ผิวหนังและความงามปริมาณมาก เพื่อความมั่นใจถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด
- ผู้รับบริการควรขอตรวจสอบว่า HA Filler ที่จะได้รับการฉีด เป็นผลิตภัณฑ์แท้ 100% ก่อนฉีด รวมทั้งตรวจสอบวันเดือนปีที่ผลิต และ วันหมดอายุ ทุกครั้ง